การปฏิบัติเมื่อแบกของอย่างไรไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ

by Tracey Grant
69 views
1.การปฏิบัติเมื่อแบกของอย่างไรไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ

การปฏิบัติเมื่อแบกของหนัก ควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ

การแบกเป็นกิจกรรมที่ทำกันอยู่ทุกวัน แบกในที่นี้มาจากคำภาษาอังกฤษว่า carrying ซึ่งรวมถึง การเคลื่อนย้ายวัตถุในแนวราบด้วยการเดิน ไม่ว่าจะเป็นการถือวัตถุด้วยมือ หรือแบกด้วยบ่า คอ ไหล่ การหาบ ทูนวัตถุด้วยศีรษะ เป็นต้น

การแบกสามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุขณะทำงานและเป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บสะสมได้ เช่นเดียวกับการยก การดึงและดันวัตถุ แต่ที่สำคัญ การแบกมักเป็นกิจกรรมที่ต้องทำอยู่นานและใช้พลังงานมากทำให้เกิดความเมื่อยล้าได้ ในทางอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัยในการทำงานการแบกน้อยลง เนื่องจากมีการใช้ รถเข็น ล้อเลื่อนและรางเลื่อนมาช่วยเคลื่อนย้ายวัตถุมากขึ้น แต่ในทางเกษตรกรรมยังมีการแบกวัตถุกันอยู่มากเพราะสภาพพื้นที่ไม่อำนวยในการใช้รถเข็น เช่น การแบกกระสอบ แบกถุงปุ๋ย การหาบน้ำ

แบกไม่เหมือนยก

แบกต่างจากยกตรงที่ว่าแบกเป็นการเคลื่อนย้ายวัตถุในแนวราบ ในขณะที่ยกเป็นการเคลื่อนย้ายวัตถุในแนวดิ่งต้านกับแรงโน้มถ่วงของโลก
การยกต้องใช้ความแข็งแรงอย่างมากในการเอาชนะแรงโน้มถ่วงของน้ำหนักนั้น และต้องอาศัยการทำงานที่ประสานกันของกล้ามเนื้อแขนขาและลำตัว ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกดที่หมอนรองกระดูก- สันหลังได้มากกว่าการแบก เนื่องจากการยกมีการเคลื่อนไหวของหลังและกล้ามเนื้อหลังต้องทำงานหนักกว่า

โดยทั่วไปแล้วคนทำงานสามารถแบกของได้หนักกว่ายก ยกตัวอย่างในคนแบกกระสอบข้าวสารสามารถแบกข้าวสารหนัก ๑๐๐ กิโลกรัมได้ แต่ไม่สามารถยกกระสอบข้าวใส่บ่าตัวเองได้ จะต้องมีคนช่วยยกใส่บ่าให้เนื่องจากการจะยกน้ำหนัก ๑๐๐ กิโลกรัมไม่ใช่เรื่องง่าย

สิ่งที่ต้องปฏิบัติเมื่อแบกของหนักการแบกวัตถุด้วยมือ

การแบกวัตถุด้วยมือ มี ๒ แบบ คือ

  • การถือของด้านหน้าลำตัวด้วยมือทั้ง ๒ ข้าง การแบกแบบนี้มีข้อดี คือ สามารถวางและปล่อยวัตถุได้ง่าย เหมาะสำหรับการแบกของหนักในระยะเวลาสั้นๆ ส่วนที่จะมีอาการล้า คือ กล้ามเนื้อของแขนและมือที่ถือวัตถุนั้นอยู่ การถือของด้วยการงอข้อศอกจะทำให้ถือได้น้อยลงลงประมาณ ๒-๓ กิโลกรัม แต่ช่วยในแง่ของการเดิน เนื่องจากการงอศอกจะช่วยไม่ให้วัตถุไปกีดขวางการเคลื่อนไหวของขาขณะเดิน แต่อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น คือการลื่น สะดุด ล้ม เนื่องจากมองไม่เห็นพื้น การ ขึ้น-ลงบันไดต้องทำด้วยความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
  • การหิ้ว เช่น การหิ้วกระเป๋า มีข้อดีเช่นเดียวกัน กับการถือของทางด้านหน้า เพราะสามารถวางและ ยกวัตถุได้ง่าย แต่ข้อเสียคือลำตัวจะเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่งและต้องใช้พลังงานอย่างมากในการหดเกร็งแบบคงที่ของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการทรงตัว ดังนั้น ถ้าจะต้องเดินมากกว่า ๑๐๐ เมตรไม่ควรหิ้วของหนักเกิน ๕ กิโลกรัม

การแบกวัตถุด้วยบ่าและหลัง

การแบกวัตถุด้วยบ่าและหลัง เช่น การแบกกระสอบข้าวสาร ถุงปูน การแบกแบบนี้จะสามารถแบก น้ำหนักได้มากที่สุด เพราะน้ำหนักของวัตถุจะตกผ่านลำตัวไปสู่พื้นโดยไม่ต้องใช้แรงของแขนในการถือวัตถุนั้น

ข้อเสียของการแบกแบบนี้ คือ 

  • ผู้แบกต้องทรงตัวให้ดี ยิ่งถ้าแบกขึ้นลงทาง ลาด เช่น บันได หรือทางเดินแคบ ผู้แบกจะเสียการทรงตัว ตกบันไดหรือล้มได้ง่าย
  • ถ้าผู้แบกไม่มีความชำนาญ จะต้องใช้กล้ามเนื้อ หลังอย่างมากในการแบก อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บของ หลังได้ง่าย
  • จะมีแรงกดอย่างมากบริเวณจุดที่รับน้ำหนัก เช่น คอหรือบ่า ทำให้การไหลเวียนเลือดบริเวณนั้นลดลง
  • จะทำให้ข้อกระดูกสันหลังบริเวณคอและหลังผิดรูป หรือเสียความยืดหยุ่นไป ถ้าต้องทำงานแบกลักษณะนี้ไปนานๆ

การหาบของการหาบ

การหาบมีหลายชนิด การหาบของขายของแม่ค้า การหาบสินแร่ในงานเหมือง การแบกชนิดนี้มีข้อดีคือ แบกน้ำหนักได้มาก ผู้แบกสามารถยกวัตถุได้เอง และใช้ พลังงานน้อยกว่าการถือด้วยมือ อีกทั้งยังสามารถใช้มือช่วยป้องกันไม่ให้ล้มได้ขณะแบก

แต่การหาบมีข้อเสีย คือ จะเสียการทรงตัวได้ง่ายถ้าไม่ชำนาญ มีแรงกดบนบ่าถ้าน้ำหนักมากเกินไป การหาบโดยใช้คอนของแม่ค้านับว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่น่าทึ่ง เนื่องจากไม้คานนั้นมีความยืดหยุ่น เคลื่อนไหวขึ้นลงขณะเดิน ทำให้แรงกดบนบ่าลดลงเป็นช่วงๆ

การสะพายด้วยเป้เป๋าอย่างถูกต้องการสะพายด้วยเป้

การสะพายโดยใช้เป้นับเป็นการแบกที่มีประสิทธิ-ภาพดีที่สุดเพราะใช้พลังงานน้อยที่สุด เหมาะสำหรับการแบกของที่มีน้ำหนักมากถึงปานกลาง และต้องแบกเป็นระยะเวลานาน

การบรรจุของลงในเป้ ควรให้ของหนักอยู่ใกล้เอว (ก้นเป้) มากที่สุด กระจายน้ำหนักไปทางด้านหน้าของเป้มากที่สุด และกระจายน้ำหนักทางด้านข้างให้เท่ากัน ทั้งนี้เพื่อให้ทรงตัวได้ง่าย และกล้ามเนื้อหลังทำงานน้อยที่สุด

ข้อเสียของการแบกแบบนี้ คือ แรงกดของสายสะพายบนบ่า และหน้าอก การวางและยกเป้มาสะพาย ทำได้ยาก การระบายความร้อนของร่างกายทำได้ไม่ดี เนื่องจากการที่เป้แนบกับส่วนหลัง ถ้าของหนักมากจะต้องก้มหลัง ทำให้เสียบุคลิกและมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังได้โดยเฉพาะในนักเรียนที่สะพายเป้ทุกวัน ไม่ควรให้เป้หนักเกินร้อยละ ๑๐-๒๐ ของน้ำหนักตัว

การทูนของด้วยศีรษะ

เป็นวิธีการแบกที่ใช้พลังงานค่อนข้างน้อย แต่ ผู้แบกต้องอาศัยความชำนาญอย่างมากในการทรงท่า การเคลื่อนไหวของตัวในทิศทางต่างๆ เช่น การหมุนตัว การเดินขึ้นลงทางลาดทำได้ยาก เพื่อลดแรงกดที่ศีรษะผู้แบกต้องหาวัสดุนิ่มมารองระหว่างศีรษะกับวัตถุ

การแบกวัตถด้วยบ่าและหลัง

8 ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงขณะแบก

  1. วิธีการแบกวัตถุ มีหลายแบบ ตั้งแต่ หิ้ว ถือ สะพาย ทูน หาบ แบกโดยใช้บ่า คอ หลัง และสะโพก การแบกแต่ละแบบจะใช้พลังงานและมีข้อดีข้อเสีย ต่างกัน
  2. การใช้พลังงาน การแบกจะเหมือนกับการเพิ่มน้ำหนักตัว ซึ่งจะทำให้ต้องใช้พลังงานมากขึ้นในการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
  3. น้ำหนักวัตถุ เป็นปัจจัยหลักที่มีผลถึงพลังงาน ที่ใช้ การบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่มีแรงกดไปที่หมอนรองกระดูกมากเกินไปและการลื่นล้มเนื่องจากการเสียการทรงตัว
  4. ระยะห่างของวัตถุกับลำตัว ถ้าจุดศูนย์ถ่วงของวัตถุอยู่ห่างจากตัวทางด้านหน้า จะต้องใช้กล้ามเนื้อหลังมากในการดึงไม่ให้ตัวล้มไปข้างหน้า ในทางกลับกันถ้าแบกของไว้บนหลังจำเป็นต้องก้มเพื่อให้จุดศูนย์ถ่วงตกลงระหว่างเท้าทั้ง ๒ ข้าง
  5. ระยะทางและความเร็วในการเดินแบกวัตถุ ระยะทางการแบกวัตถุที่ไกล มีความเร็วในการเดิน สูง จะใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ปัจจัยนี้มีความสัมพันธ์กับ น้ำหนักของวัตถุ กล่าวคือ ถ้าวัตถุหนักมากระยะทางที่สามารถแบกได้และความเร็วในการเดินจะน้อยลง
  6. แรงกดระหว่างวัตถุกับร่างกาย เช่น การหาบของจะมีแรงกดที่บริเวณไม้คาน หรือการสะพายเป้ทางด้านหน้า จะขัดขวางการหายใจ
  7. การระบายความร้อน เช่น การสะพายเป้หลัง เป็นระยะเวลานานๆ จะขัดขวางการระบายความร้อนโดยผิวหนังบริเวณหลัง
  8. ที่จับหรือมือจับที่จับได้สะดวกและมั่นคง จะช่วยให้แบกน้ำหนักได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๑๐-๒๐

8 ข้อแนะนำทั่วไปสำหรับการแบกวัตถุ

  • เลือกชนิดของการแบกให้เหมาะสมกับงาน เช่น การแบกกระสอบข้าวสาร ควรแบกด้วยบ่า เพราะสามารถจะวางกระสอบลงพื้นได้ง่าย 
  • การเดินแบกวัตถุแม้ในทางราบจะใช้พลังงานมาก ถ้างานส่วนใหญ่เป็นการแบกหาม ต้องกินอาหารที่ให้พลังงานสูง ดื่มน้ำให้เพียงพอ และพยายามนอนในระหว่างช่วงพัก เพื่อช่วยลดแรงกดที่กระดูกสันหลัง และลดการล้าของกล้ามเนื้อ
  • ไม่ควรแบกของที่หนักเกินกำลัง ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้ออกประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยกำหนดอัตราน้ำหนักที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงาน ยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักได้ไม่เกิน ๕๕ กิโลกรัมในชาย และ ๒๕ กิโลกรัมในหญิงไทย
  • ควรแบกวัตถุให้ชิดตัวมากที่สุดเพื่อที่จะใช้พลังงานน้อยที่สุดในการทรงตัว
  • ขณะแบก มือและขาควรเคลื่อนไหวได้สะดวก โดยเฉพาะการเดินไม่ควรให้วัตถุที่แบกขัดขวางการเดิน เช่น การแบกของไว้ด้านหน้าด้วยมือทั้ง ๒ ข้าง จะทำให้เดินไม่สะดวก
  • บริเวณที่มีแรงกดจากการแบกควรใช้วัสดุที่นิ่มรอง ยกตัวอย่างเช่น บริเวณคอหรือบ่าควรหาผ้าหรือวัสดุนิ่มมารอง เพื่อป้องกันการกดทับ
  • ในการแบกวัตถุในระยะทางไกลโดยเฉพาะการใช้เป้หลัง ควรมีการพักวางเป็นระยะๆ เพื่อให้แผ่นหลังได้ระบายความร้อน และเป็นการลดแรงกดบริเวณบ่า
  • การแบกกล่องควรมีที่จับข้างกล่องที่มั่นคง

จะเห็นได้ว่าจะแบกวัตถุให้ปลอดภัย ต้องไม่ให้น้ำหนักวัตถุมากเกินไป ควรเลือกวิธีการแบกที่เหมาะสม แบกให้ชิดลำตัวมากที่สุด ของที่แบกไม่ควรขัดขวางการใช้มือหรือการเดิน ระวังพื้นลื่น ทางลาดและบันได เนื่องจากขณะแบกจะทรงตัวได้ไม่ดี ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานแบกหามทั้งวัน ควรต้องกินอาหารที่ให้พลังงาน และดื่มน้ำให้เพียงพอ เพียงเท่า นี้ตัวท่านจะปลอดภัยจากการบาดเจ็บจากการแบก

การจัดการชิ้นงานการจัดการกับชิ้นงาน

การยกชิ้นงานหรือวัสดุ

  • ควรรักษาโครงสร้างของร่างกายให้อยู่ในสภาพปกติธรรมชาติ
  • เข้าใกล้สิ่งที่ต้องยกขึ้นให้มากที่สุดก่อนที่จะออกแรงยก
  • ยกขึ้นโดยส่วนหลังยังคงอยู่ในสภาพตั้งตรง
  • เมื่อส่งผ่านสิ่งของที่มีน้ำหนัก ให้หันหน้าเข้าหาผู้รับต่อหรือตำแหน่งที่จะจัดวางก่อนที่จะส่งต่อ เพื่อลดการบิดตัวทำงาน
    การผลักและการดันวัสดุ
  • ส่วนหลังควรตรงได้ระดับในขณะที่ผลักหรือดันวัสดุสิ่งของ
  • ใช้วิธีการผลักมากกว่าการลาก

การกำหนดขนาดน้ำหนัก

  • จัดน้ำหนักสิ่งของให้กระจายสม่ำเสมอ
  • ช่วยกันหลายคนในการยกของที่มีขนาดใหญ่เกินตัว
  • ถ้ามีเครื่องมืออยู่ควรใช้เครื่องมือช่วยยกแทนการออกแรงโดยตรง
  • ยกของหนักเบาสลับกันไป
  • ถ้าเป็นไปได้ควรมีการสลับหน้าที่ในการทำงานให้แตกต่างกัน ไม่ทำเดิมซ้ำๆ ตลอดเวลา

ขั้นตอนการเคลื่อนย้ายวัสดุชิ้นงานขั้นตอนการเคลื่อนย้ายวัสดุชิ้นงาน

1. ตรวจสอบเส้นทางการเดินทางของชิ้นงาน

  1. ตรวจสอบที่หมายปลายทางที่จะยกวัสดุสิ่งของไปไว้ ในขณะทำงานควรมองเห็นเส้นทางเดินของสายงานหรือชิ้นงานอย่างชัดเจนตลอดเวลา
  2. ตรวจสอบระยะทางเดินไปสู่ปลายทางว่าไม่มีอันตรายหรือสิ่งกีดขวาง
  3. ตรวจสอบเส้นทางเดินอื่นๆ ที่สามารถขนของไปได้โดยลากดันไปตามพื้น พยายามหลีกเลี่ยงการแบกของขึ้นบ่า

2. ตรวจสอบปริมาณและน้ำหนักของชิ้นงาน

  1. ตรวจสอบขนาดและน้ำหนัก ควรรู้ขนาดและน้ำหนักของสิ่งของก่อนออกแรงยก
  2. ตรวจสอบเหลี่ยมมุมที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ
  3. ตรวจสอบว่ามีปัญหาการบรรจุหีบห่อหรือไม่
  4. ถ้าจำเป็นอาจใช้ถุงมือหรือเสื้อผ้าหนากันเปื้อนสวมใส่
  5. ถ้าจำเป็นอาจต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนขา หรือใส่แว่นตาป้องกันเศษชิ้นส่วนเข้าตา
  6. ใช้เครื่องมือช่วยผ่อนแรงในการขนย้ายให้มากที่สุด

3. ตรวจสอบขีดความสามารถของตนเอง

  1. อย่าประเมินพละกำลังของตนเองมากเกินไป
  2. ยืนหรือก้าวเดินในที่ที่มั่นคงไม่โยกคลอน
  3. ให้เท้าข้างหนึ่งอยู่ใกล้กับสิ่งของที่จะเคลื่อนย้ายให้มากที่สุด
  4. จับวัตถุให้แน่นด้วยมือทั้ง 2 ข้าง
  5. จัดให้ร่างกายอยู่ในสภาวะสมดุล
  6. ออกแรงผ่านกล้ามเนื้อในช่วงขา ช่วงท้อง บ่า และแขน
  7. พยายามให้น้ำหนักอยู่ใกล้ตัวมากที่สุด

4. ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของตนเอง

  1. ยกอย่างช้าๆ ใช้แรงสม่ำเสมอ
  2. ระวังการเคลื่อนไหวอย่างฮวบฮาบทันทีทันใด
  3. เมื่อต้องหมุนตัวย้ายน้ำหนัก ให้หมุนตัวก่อนแล้วจึงยก อย่าใช้วิธีการบิดตัวหันมายก
  4. พยายามดำรงรักษาส่วนโค้งตามธรรมชาติของโครงสร้างกระดูกสันหลัง และให้ร่างกายอยู่ในท่าตรงขณะยก ผลัก หรือดันสิ่งของ
  5. มองทางเดินไปข้างหน้าว่าไม่มีอะไรมาสะดุด
  6. หลีกเลี่ยงการจัดวางน้ำหนักที่ไม่ได้สมดุล ถ้าของหรือน้ำหนักเลื่อนหลุดออกจากมือจับ ปล่อยให้ตกลงแล้วค่อยเก็บ อย่าใช้วิธีการคว้าเอาไว้

5. ตรวจสอบวิธีการเอาของลง

  1. วางของลงในลำดับตรงข้ามกับการยกเอาของขึ้น
  2. หลีกเลี่ยงการเอื้อมวางของ
  3. อย่ายกวัสดุอุปกรณ์ที่อาจมีอันตรายต่อร่างกายตามลำพัง

เกี่ยวกับเรา

แหล่งรวมความรู้ที่คุณสามารถนำไปใช้ ในชีวิตการทำงานได้จริง ด้วยเนื้อหาที่ทันสมัยและครอบคลุมทุกแง่มุมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน

ติดต่อ

บทความน่าสนใจ

logo drinstech

©2023 – All Right Reserved. Designed by Drinstech